Categories
Blog

5 ทักษะทางการเงินที่ทุกคนควรมี

ทักษะทางการเงินนั้นเป็นทักษะด้านนึงที่เราจำเป็นต้องฝึก ในยุคที่โลกใช้เงินเป็นส่วนประกอบในการขับเคลื่อนชีวิต และขึ้นชื่อว่า “ทักษะ” นั่นหมายความว่า สามารถฝึกฝนกันได้ เช่นกัน

มาดูกันว่ามีทักษะทางการเงินอะไรบ้าง ที่เรา ๆ ควรจะฝึกกันไว้ เพื่อสร้างสุขภาพทางการเงินของเราให้แข็งแรง 💪

 


1.ทักษะการออม

เป็นทักษะพื้นฐานที่ฝึกง่ายที่สุด เพราะแม้แต่เด็ก 4 – 5 ขวบ ก็ฝึกได้ ทักษะนี้ว่าด้วยเรื่องความสามารถในการให้ “เหลือเงินมาเก็บไว้” ไม่ว่าจะเป็น ใช้ก่อนแล้วเหลือเก็บ หรือ จะเก็บก่อนเอามาใช้ ทั้ง 2 แบบ เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน (ส่วนตัวผมว่าแบบหลังฝึกง่ายกว่า)

 

เครื่องมือในการฝึกก็มีให้เลือกหลากหลายเลย เช่น

– เก็บเงินตามเลขวัน วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท

– เก็บแบงค์ 50 คือ เก็บแบงค์ 50 ทุก ๆ ครั้งที่ได้

– เก็บ VAT ตัวเอง เช่น ถ้าไปกินบุฟเฟต์ ต้องออมเงิน 10% ของค่าบุฟเฟต์วันนั้น

– เก็บค่าพลาดเป้า เช่น ตั้งเป้าไว้ว่าจะวิ่ง 20 โล แต่วิ่งได้ 15 โล ต้องเก็บเงิน 500 บาท

– เก็บจนกว่าจะถึงเป้า เช่น ตั้งใจว่าปีนี้จะมีแฟนให้ได้ ถ้ายังไม่มีจะหยอดวันละ 20 บาทไปเรื่อย ๆ

 

หลักเกณฑ์ทั่วไปที่นักวางแผนทางการเงินแนะนำคือ การเก็บออมเงินสำรองฉุกเฉิน ให้มีขนาด 3 –  6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน

 

[ความเห็นส่วนตัว]

ใครที่มีเงินออมน้อยกว่า 3 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ทักษะนี้น่าจะเป็นทักษะนึงที่ควรจะฝึกฝนให้ดีขึ้น และพยายามเก็บเงินออมสำรองไว้ให้ได้ 3 – 6 เดือน

 


2.ทักษะการลดค่าใช้จ่าย

เป็นทักษะที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะขึ้นอยู่กับ Life Style ในการใช้ชีวิตของแต่ละคน

 

พื้นฐานของทักษะนี้ว่าด้วยเรื่องการแบ่งให้ได้ระหว่าง Need กับ Want อะไรเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องซื้อจริง ๆ กับอะไรที่ซื้อเพื่อสนองความอยาก การฝึกทักษะนี้จะรวมไปถึงการยับยั้งชั่งใจต่อการใช้จ่าย ที่มีสิ่งเย้ามายั่วเราอยู่เรื่อย ๆ

 

เครื่องมือในการฝึกที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย เช่น

– ฝึกถามตัวเองทุกครั้งที่ซื้อของ ว่าสิ่งถ้าไม่มีได้ไหม

การจำกัดงบประมาณในการใช้จ่าย (Budgeting)

– การทำบัญชีรายรับรายจ่าย

 

หลักเกณฑ์ทั่วไปที่นักวางแผนทางการเงินแนะนำคือ มีค่าใช้จ่าย (รวมชำระหนี้สินรายเดือน) น้อยกว่ารายรับต่อเดือน

 

[ความเห็นส่วนตัว]

ถ้าใครมีรายจ่ายต่อเดือนสูงกว่ารายได้ อันนี้ต้องระวังแล้ว ค่ากลาง ๆ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 70%-80% ของรายได้ ส่วนใครที่มีรายจ่ายระดับต่ำกว่า 50% ของรายได้ อันนี้ต้องปรบมือ 👏👏👏 คุณเก่งในด้านนี้มาก 👍

 


3.ทักษะการหารายได้

เป็นทักษะสำคัญของการใช้ชีวิต เป็นทักษะกันตาย ฝึกไว้ไม่อดตายแน่นอน

 

โดยพื้นฐานแล้วการหารายได้ คือ การแปลงแรงกาย เวลา ความสามารถของเราให้เป็นเงิน ส่วนจะได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ คุณค่า ในตัวเราว่าสามารถตอบสนองกับความต้องการของตลาดได้มากน้อยแค่ไหน

 

เครื่องมือในการหารายได้นั้นมีมากมาย ขึ้นอยู่กับความสามารถและจริตของเรา

– การหางาน Part Time ทำหลังเลิกงาน

– เป็น Freelance รับงานมาทำที่บ้าน

– ขายของออนไลน์ / เป็นตัวแทนขาย

– รับสอนหนังสือ บรรยาย

– ทำ Content ขาย เช่น ถ่ายภาพ / เขียน Blog / Youtuber

ฯลฯ

 

หลักเกณฑ์ของรายได้นั้นก็ไปคู่กับรายจ่าย คือ หารายได้ให้มากกว่ารายจ่าย (ง่าย ๆ สั้น ๆ เลย)

 

[ความเห็นส่วนตัว]

ผมคิดว่ารายได้ที่เหมาะสมสำหรับคนเมืองปัจจุบัน น่าจะอยุ่ที่ประมาณ อายุ x 1,000 บาท ต่อเดือน เช่น อายุ 30 ปี อย่างน้อยความมีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท

 


4. ทักษะการลงทุน

เป็นทักษะต่อยอด โดยนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ทำให้มีมูลค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

 

Concept ของการลงทุนคือ การนำเงินที่เราเก็บสะสม (หรือเอาเงินคนอื่น แบบมีเงื่อนไข) ไปสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการออม

 

หากสามารถที่จะลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนมากกว่าค่าใช้จ่าย จุดนี้เองจะเป็นจุดที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า อิสรภาพทางการเงิน นั่นหมายถึง เราสามารถอยู่ได้จากรายได้จากทรัพย์สิน (เงินทำงานอย่างเดียว) โดยที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน

 

ปัจจุบันนี้เครื่องมือในการลงทุนนั้นมีหลากหลายมาก เช่นกัน เครื่องมือส่วนนึงนั้น ผมเคยเขียนไว้ในตอน มีเงิน x บาท ลงทุนอะไรดี ? และยังมีเครื่องมืออีกมากมายหลายตัว

 

[ความเห็นส่วนตัว]

การใช้เครื่องมือในการลงทุนนั้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อน เพราะลงทุนมาพร้อมคู่ความเสี่ยง หากไร้ซึ่งความเข้าใจที่มากพอแล้ว ลงทุน อาจจะกลายเป็น ทุนลง ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบร้อนที่จะลงทุน ถ้าอยากลอง ลงเล็ก ๆ ไปก่อน เพื่อจำกัดความเสียหายจากความไม่เข้าใจของตัวเรา

 


5.ทักษะวางแผนการเงิน

การวางแผนทางการเงิน คือ การบริหารจัดการการเงินของเรา ให้สอดคล้องกันในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของเรา ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเป้าหมายแตกต่างกัน ดังนั้นการวางแผนทางการเงินของแต่ละคนก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

 

4 ทักษะแรกที่กล่าวไปด้านบน จะเป็นทักษะที่ฝึกจากการทำ ส่วนทักษะนี้เป็นเน้นทางด้านการคิดวิเคราะห์ซะมากกว่า

โดยหัวข้อหลัก ๆ ที่มักเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินได้แก่

– การตั้งเป้าหมายทางการเงิน

– วางแผนเกษียณ

– บริหารจัดการหนี้สิน

– วางแผนภาษี

– การป้องกันความเสี่ยง (ประกัน)

– วางแผนค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ (เรียนต่อ, แต่งงาน, ดาว์นรถ)

– แผนการลงทุน

ฯลฯ

 

[ความเห็นส่วนตัว]

ทักษะนี้อาจจะดูเหมือนห่างไกลในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา แต่หากสามารถทำได้เองมันช่วยให้เราจัดการควบคุม (บริหาร) การเงินของเราได้ดียิ่งขึ้น และหากฝึกทักษะนี้จนเชี่ยวชาญชำนาญแล้วล่ะก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้เลย ซึ่งอาชีพนั้นก็คือ นักวางแผนทางการเงินนั่นเอง

 

Facebook Comments