สวัสดีวันสิ้นเดือนแรกของปี 🙂
วันนี้ขอเขียน practice การวางแผนการเงินส่วนตัวหน่อย ว่าทำอะไรไปบ้าง ในเดือนแรกของปี
1. List รายการสินทรัพย์ หนี้สิน
(หรือภาษาทางการเงินเรียกว่า การจัดทำงบดุล)
เพื่อที่จะเห็นภาพรวมทางการเงินของเรา ว่าปัจจุบันนี้ สถานะการเงินของเราเป็นอย่างไร
มีสินทรัพย์อยู่เท่าไหร่ มีหนี้สินอยู่เท่าไหร่ สินทรัพย์มากกว่าหรือน้อยกว่าหนี้สินอยู่เท่าไหร่
หากเราทำไว้ในแต่ละช่วงเวลา เช่น ทำทุกปี เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของเรา ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร จะได้ปรับตัวกันได้
2. ประเมินรายรับ รายจ่าย คร่าว ๆ ในแต่ละเดือน
ในข้อที่แล้ว เราทำขึ้นเพื่อรู้สถานะการเงินปัจจุบันของเรา แต่ในข้อนี้ เราทำขึ้นเพื่อคาดการณ์ การเงินของเราในปีนี้
เมื่อเราสามารถประเมินรายรับ รายจ่ายในแต่ละเดือนได้แล้ว เราจะเห็นว่า แต่ละเดือนนั้น เรามีเงินเหลือเท่าไหร่ ซึ่งเงินส่วนนี้ เราจะได้นำไปวางแผนถูก ว่าจะนำไปใช้ทำอะไร ถ้าคิดไม่ออก ง่ายสุด คือ เก็บออมครับ (หักไปก่อน ใช้จ่ายอย่างอื่นเลยยิ่งดี)
3. List ค่าใช้จ่ายรายปี
รายการเหล่านี้ บางทีเรามักจะหลงลืมกัน ว่าเราจะต้องจ่ายกันในเดือนไหน เพราะบางทีจ่ายปีละครั้ง เช่น ค่าเบี้ยประกัน ค่าส่วนกลาง ค่าบำรุงรักษารถยนต์ ฯลฯ
ค่าใช้จ่ายพวกนี้ บางทีถึงเวลาต้องจ่ายแล้ว เพิ่งมานึกได้ ไม่ได้เตรียมเงินเผื่อไว้ ก็ต้องหยิบเงินเก็บออกมาจ่าย ถ้ารู้แต่เนิ่น ๆ จะได้เตรียมไว้ก่อน ไม่มา surprise ตอนจะจ่าย
4. รีวิวพอร์ตลงทุน
เข้าไปดูมูลค่าของพอร์ตที่ลงทุนไว้ แล้วดูว่าสัดส่วนของแต่ละประเภท ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ไหม
หากเพี้ยนไปมากจากที่ตั้งเกณฑ์ ก็ปรับซะหน่อย ให้ยังอยู่สัดส่วนที่ตั้งไว้แต่แรก หรือจะปรับสัดส่วนก็ตาม ปีนี้จะได้เข้าลงทุนตามแผนได้
5. วางแผนภาษีเงินได้
ส่วนนี้ อยากให้ทุก ๆ คนที่ทำงานประจำ ทำกันตั้งแต่ต้นปีเลย
คำนวณภาษีคร่าว ๆ ไว้ก่อน ว่ามีรายรับเท่าไหร่ ก็จะเห็นว่าแต่ละเดือนเราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่าไหร่
แล้วลองคำนวณดูว่า เรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง จากนั้นทำการแจ้งนายจ้างไป (หรือทำการยื่น ลย.01) ในส่วนนี้ก็จะทำให้ ค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของเราลดลง
ทั้งหมดนี้ ก็เป็น Task ที่ผมทำในช่วงต้นปี
หากใครทำเหมือน ๆ กัน หรือ ทำอย่างอื่น ด้วย แชร์กันได้นะครับ อยากรู้เหมือนกันว่า คนอื่น ๆ เค้าทำอะไรกันบ้าง 🙂