วันนี้ได้อ่านหนังสือการเงินเล่มนึงระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัด มีอยู่ช่วงนึงที่หนังสือเล่มนี้เขียนประมาณว่า การเงินเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่โรงเรียนไม่มีสอน
ผมเลยคิดว่าถ้าลูกหลานของเรา ไม่สามารถเรียนเรื่องการเงินที่โรงเรียนไม่ได้ แต่ลูกหลานของเรา สามารถเรียนเรื่องการเงินนอกโรงเรียนได้ ซึ่งที่ ๆ เหมาะที่จะเริ่มเรียนเรื่องการเงินมากที่สุด ก็คือ ที่บ้าน นั่นเอง
วันนี้เลยอยากจะเขียนแนวทางการเรียนรู้ทางการเงิน ภาคปฏิบัติ (แบบฝึกหัด) ที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18
เด็กอนุบาล
หลายคนอาจจะแปลกใจ ว่าอะไรกันจะให้เด็กอนุบาลเนี่ยนะมาเรียนรู้เรื่องการเงิน ผมคิดว่า เมื่อใดที่เด็กได้รับค่าขนมแล้ว เมื่อนั้นแหล่ะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้เรื่องการเงิน และเรื่องแรก ๆ ที่ควรสอนคือ เรื่องการออม
ในเรื่องการออม ครอบครัวส่วนใหญ่มักจะสอนให้ลูกหลานหยอดกระปุกกันอยู่แล้ว แต่สิ่งนึงที่ผมอยากจะให้เสริมคือ การฝึกให้เด็ก ๆ ออมก่อนใช้ เมื่อมีรายได้เท่าไหร่ หยอดกระปุกอย่างน้อย 10% (ดังนั้นเวลาให้ค่าขนมเค้า ควรให้เป็นเหรียญบาท เพราะเค้าจะได้แบ่งออมง่ายหน่อย รับเงินค่าขนมมาปุ๊บ ให้หยอดกระปุกปั๊บ 10%)
เด็กประถมต้น
โตขึ้นมาหน่อย เค้าควรได้รู้แล้วว่า เงินนั้นมาจากไหน (ไม่ใช่อยู่ ๆ ไปยืนอยู่หน้าตู้สี่เหลี่ยมแล้วก็หยิบเงินมาได้) และเงินนั้นโดยปกติจะถูกใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรบ้าง (ของที่เรากิน รถที่เราขับ น้ำ ไฟ อินเทอร์เน็ตที่บ้าน ให้เค้ารู้ว่าพวกนี้ไม่ใช่ของฟรีนะ)
พาไปให้เห็นว่าต้องทำงานนะถึงมีรายได้ และพาเค้าไปให้เห็นการใช้จ่ายเช่นกัน เช่น พาไปซื้อของเข้าบ้าน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนนู้นนี่นั่นตอนไปธนาคาร เป็นต้น
เด็กประถมปลาย
วัยนี้รู้จักศัพท์เยอะขึ้น สะกดคำได้ ควรให้ฝึกเริ่มทำบันทึกรายรับรายจ่ายของเค้าเอง จะได้รู้จักกับกระแสเงินสด ให้เค้าได้รู้ว่า อ๋อ ถ้ารายรับมากกว่ารายจ่าย เค้าก็จะมีเงินเหลือเก็บออมนะ แต่ถ้าเดือนไหนเค้าซื้อของเล่นรายจ่ายก็อาจจะมากกว่ารายได้กระแสเงินสดเดือนนั้นเค้าก็จะติดลบนะ ต้องเอาเงินเก็บมาใช้ ถ้ามันลบบ่อย ๆ เข้า เงินเก็บไม่พอทำไง
เด็กมัธยมต้น
ช่วงนี้เริ่มมีแรงพอช่วยงานได้ ควรเริ่มให้ลองหารายได้เอง ได้สัมผัสถึงการที่เอาแรงกายไปแลกเงินก่อน ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ เช่น ล้างรถ ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นฐานและการหารายได้แบบง่ายสุด (จากนั้น หากมีโอกาสก็เริ่มให้เค้ารู้จักค้าขายบ้างก็ดี)
พอเข้ารู้จักหารายได้เข้ามา ก็ควรแนะนำให้เค้ารู้จักและลองเปิดบัญชีธนาคารประเภทต่าง ๆ ออมทรัพย์ ฝากประจำ ออมทรัพย์พิเศษ ฉลากออมสิน ให้เค้าได้รู้จักคำว่า ผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยจากการฝากว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แบบไหนเหมาะกับการฝากแบบไหน ซึ่งก็จะได้เรียนรู้ถึงเรื่องสภาพคล่องไปในตัว
เด็กมัธยมปลาย
น่าจะเป็นช่วงที่มีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว ก็สามารถให้รู้จักการวางเป้าหมายทางการเงิน การจัดสรรเงิน สมมุติว่าอยากซื้อจักรยานคันใหม่ ก็ต้องมาดูว่าราคาเท่าไหร่ กะว่าจะซื้อเมื่อไหร่ แล้วต้องออมเดือนเท่าไหร่ เป็นต้น
และถ้าเป็นไปได้ ควรให้เค้าได้ลองเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม (เปิดผ่านชื่อบัญชีผู้ปกครอง) เพราะไม่จำเป็นต้องมีเงินเยอะก็ลงทุนได้ ( มี 1 บาทก็ซื้อได้) ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่จะให้เค้าได้รู้จักชื่อสินทรัพย์การเงินประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร หุ้น อสังหาฯ (คืออาจจะไม่ต้องทราบรายละเอียดมาก ชื่อผ่านหูก็ยังดี)
พอโตขึ้นไปอีกหน่อย (เข้ามหาวิทยาลัย) ผมคิดว่าก็ไม่ยากแล้ว ที่จะสามารถต่อยอดไปเรื่องราวทางการเงินอื่น ๆ เช่น พวกภาษี, เครดิต/หนี้สิน, ประกัน, การลงทุนประเภทต่าง ๆ, การอ่านงบการเงิน เป็นต้น
และทั้งหมดนี้ก็เป็นแบบฝึกหัดที่ผมคิดว่าน่าจะเหมาะในแต่ละช่วงวัย หวังว่ามันคงไม่หนักเกินไปสำหรับเด็ก ๆ นะ
อยากให้คนไทยมีรากฐานการเงินที่แข็งแรง และรากฐานที่สำคัญก็มาจากครอบครัวนี่แหล่ะไม่ใช่โรงเรียน 🙂