“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน”
ประโยคคุ้นหูที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ซึ่งผมเองก็พยักหน้า หงึก ๆ เห็นด้วยว่าความเสี่ยงนั้นมีจริง แต่ความเสี่ยงสามารถลดได้ด้วยการกระจายความเสี่ยงเหมือนกัน ดั่งประโยคยอดฮิตอีกประโยค
“อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว”
วันนี้เลยอยากจะแชร์วิธีการจัดพอร์ตการลงทุนพื้นฐาน เพื่อลดความเสี่ยงกันซักหน่อย ซึ่งจะสร้างความสมดุลของพอร์ตเราเพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงอย่างมีระดับ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระดับ ตามนี้
ระดับที่ 1
ระดับพื้นฐานที่ควรต้องทำในทุก ๆ พอร์ตการลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยง (ใครที่รับความเสี่ยงสูงได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องทำก็ได้) คือ การกระจายความเสี่ยงระดับ Asset Class หรือประเภททรัพย์สิน
ซึ่งสำหรับการลงทุนในการกองทุนรวมนั้น จะแบ่งประเภททรัพย์สิน หลัก ๆ อยู่ 4 ประเภท คือ
- กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) – เน้นลงทุนในเงินฝาก / พันธบัตรรัฐบาล ผลตอบแทนไม่สูงมาก (พอ ๆ กับบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง) ความเสี่ยงต่ำมาก โอกาสติดลบน้อยมาก
- กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) – เน้นลงทุนในตราสารหนี้ / หุ้นกู้ ผลตอบแทนสูงขึ้นมาหน่อย 1 – 3% ความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสติดลบนิดหน่อย
- กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) – เน้นลงทุนในหุ้น มีความผันผวน ความเสี่ยงสูงหน่อย แต่ผลตอบแทนดี
- กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก – เป็นการลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจ เช่นพวก ทองคำ น้ำมัน เป็นต้น มีความผันผวนสูงมาก
เมื่อเรามีพอร์ตที่ลงทุนในกองทุนรวม อย่างน้อยความมีประเภทสินทรัพย์สินมากกว่า 1 ประเภท และที่ดูจะเป็นที่นิยมกันมากที่สุด คือ การเลือกซื้อ กองทุนรวมตราสารหนี้ กับ ตราสารทุน ใส่ไว้ในพอร์ต ตามสัดส่วนของแต่ละคน
ต้องการผลตอบแทนสูงให้สัดส่วนกับตราสารทุนมากหน่อย (แต่ความผันผวนก็มีมากขึ้นด้วย) อยากจะลดความเสี่ยงก็เพิ่มสัดส่วนกับกองทุนรวมตราสารหนี้
หรือในหลักสากลจะถูกเรียกระดับนี้ว่า การทำ “Asset Allocation”
ระดับที่ 2
ในระดับที่ 2 นี้ คือ การกระจายซื้อหลากหลายกองทุน ใน 1 ประเภททรัพย์สิน โดยเฉพาะ กองประเภทตราสารทุน
สำหรับผมแล้วการกระจายระดับนี้ถือว่าเป็น Option เสริมล่ะกัน ทำก็ได้ ไม่ได้ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะเนื่องจาก กองทุนตราสารทุนทุกกองมีการกระจายในหุ้นหลายตัวอยู่แล้ว แต่หากต้องการการกระจายในระดับนี้ ก็สามารถทำได้ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
- แบ่งซื้อกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศตามโซนต่าง ๆ เช่น กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกา, จีน, ยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เวียดนาม ฯลฯ และก็จะมีบางกองทุนที่กระจายลงทุนทั่วโลกให้เลย คือซื้อกองเดียว เดี๋ยวผู้จัดการกองทุนไปจัดการให้
- แบ่งซื้อกองทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector Funds) เช่น Healthcare, Energy, Banking, Technology ฯลฯ กองทุนในกลุ่มนี้มักมีความผันผวนสูง อาจจะขึ้นลงตาม Cycle ของมัน ใครใคร่ชอบแบบไหนซื้อติดพอร์ตไว้ซักนิดก็ได้
ระดับนี้ มีคำเรียกอีกอย่างนึงว่า การทำ “Diversified Portfolio”
ระดับที่ 3
เป็นการกระจายในส่วนของการเข้าซื้อ คือ ทยอยเข้าซื้อกองทุนเป็นช่วง ๆ หรือที่เรียกว่า การทำ Dollar Cost Average (เรียกกันสั้น ๆ ว่า DCA ) เช่น เข้าซื้อทุกสัปดาห์ เข้าซื้อทุกเดือน หรือทุกไตรมาส โดยไม่ต้องให้ความสำคัญกับราคาที่ซื้อมากนัก ตั้งเป็นการเข้าซื้ออัตโนมัติเลยก็ได้
หากมีเงินมาเป็นก้อน เราก็ควรแบ่งเป็นส่วน ๆ ออกมา แล้วกระจายเข้าซื้อเป็นช่วง ๆ เช่นกัน เพราะจะเป็นการเกลี่ยราคาต้นทุนของเรา และง่ายต่อการบริหารจัดการ ไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของตลาดเพราะ กองทุนตราสารทุน ส่วนใหญ่นั้นมีความผันผวนสูงอยู่แล้ว
ดังนั้น หากจะลงทุนในกองทุนรวมแล้ว เราก็ควรจะลงทุนอย่างมีระดับ ไม่ควรซื้อตามใจชอบ เห็น NAV ถูก ปันผลดี มีคนเชียร์ หรือซื้อตามคนอื่น
สิ่งที่เราควรจะทำคือ แบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน กระจายลงทุนในหลากหลายประเภททรัพย์สิน หลากหลายกอง และเฉลี่ยเข้าซื้อในหลากหลายเวลา ทำแบบนี้แล้ว ความเสี่ยงที่มันจะเกิดขึ้นจากการเน้นลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์นึงก็จะลดลงได้ พอร์ตการลงทุนของเราก็จะมีระดับมากขึ้น 🙂