สัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปอบรมสำหรับเตรียมสอบ IC เพื่อที่จะขอวุฒิผู้แนะนำการลงทุน (รายละเอียดจะเขียนแยกอีกทีใน CFP Diary) มีเนื้อหาอยู่ส่วนนึงน่าสนใจ และคิดว่าเหมาะกับหลาย ๆ คนที่กำลังจะเริ่มต้นลงทุน เนื้อหาส่วนนี้กล่าวถึงกระบวนการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ผู้แนะนำการลงทุนนำไปใช้กับลูกค้า
แต่ผมคิดว่าเนื้อหาส่วนนี้สามารถให้ผู้ที่จะลงทุนทุกคนสามารถทำเองได้ และเป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับการเริ่มต้นที่จะลงทุนในตลาดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยกระบวนการตัดสินใจลงทุนนั้น จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ระบุวัตถุประสงค์ และข้อจำกัดการลงทุน
ก่อนที่เราจะเริ่มต้นลงทุนใด ๆ ขั้นแรกเราควรจะรู้ตัวเราเองก่อนว่า
- ปัจจุบันนี้สถานะการเงินของเราเป็นอย่างไร โดยใช้งบดุลมาเป็นตัวตอบ
- รายได้ เท่าไหร่ รายจ่ายเท่าไหร่ เหลือเก็บเท่าไหร่ โดยใช้งบกระแสเงินสดมาเป็นตัวตอบ
- การลงทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ต้องการผลตอบแทนประมาณเท่าไหร่
- มีข้อจำกัดอะไรบ้างไหม
- สภาพคล่องเป็นอย่างไร (พร้อมถอนเมื่อต้องการ หรือสามารถมีระยะเวลาในการถอนได้)
- ระยะเวลาในการลงทุน สั้น ยาว เท่าไหร่
- ความสะดวกในการซื้อขายสินทรัพย์
- มีขีดจำกัดของเงินลงทุนไหม เท่าไหร่
- มีเงื่อนไขอื่น ๆ ไหม เช่น ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ หรือ ประเทศไหนไหม
- ฯลฯ
ในขั้นตอนนี้ทำเพื่อ กำหนดเป้าหมายในการลงทุนของเรา และร่างเส้นทางคร่าว ๆ ของเราไว้ในการลงทุนครั้งนี้
2.ประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
เป็นการตอบคำถามกับตัวเองว่า เรายอมรับความเสี่ยงได้มากน้อย แค่ไหน กับการลงทุนในวัตถุประสงค์นั้น ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ ความเต็มใจในการยอมรับความเสี่ยง เช่น รับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่กล้าลงทุนเอง หรือรับความเสี่ยงได้สูง ซึ่งในส่วนนี้อาจจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์การลงทุนของแต่ละคนด้วย
อีกปัจจัยนึงก็คือ ความสามารถในการรับความเสี่ยง ซึ่งส่วนนี้จะใช้ อายุ มาเป็นเกณฑ์หลัก หากมีอายุน้อยความสามารถในการรับความเสี่ยงจะสูง แต่เมื่ออายุมากขึ้นความสามารถในการรับความเสี่ยงจะต่ำ
อย่างไรก็ตาม แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนอายุน้อยแต่อาจจะทำใจไม่ได้กับการลงทุนที่ผันผวน (เสี่ยงสูง) ก็เป็นได้ หรือผู้ใหญ่บางคนที่มีประสบการณ์ลงทุนมายาวนาน การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอาจจะเป็นเรื่องปกติสำหรับเค้าก็เป็นได้
ก่อนการลงทุน เราควรจะประเมินตัวเองได้ว่า การลงทุนนี้ เราสามารถขาดทุนได้ไหม สูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ที่รับได้
3. จัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation)
ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในการลงทุนทุกครั้ง เราควรที่จะแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เพื่อป้องกันการสูญหายของเงินแบบเต็มจำนวน ควรจะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาการลงทุนและอัตราผลตอบแทนที่ต้องการด้วย รวมถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่เราได้ประเมินไว้ในขั้นตอนก่อนหน้านี้
4.คัดเลือกหลักทรัพย์ และสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ (Portfolio) — เริ่มต้นลงทุน
เมื่อเราแบ่งสัดส่วนในทรัพย์สินแต่ละประเภทได้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนการเลือกหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงการเลือกทรัพย์สินเป็นรายตัวแล้ว เช่น เลือกหุ้นตัวไหนดี เลือกกองทุนไหนดี เลือกลงทุนอุตสาหกรรมไหนดี ตามสัดส่วนที่ได้จัดสรรไว้ในขั้นตอนที่แล้ว
เมือเลือกได้ครบหมดแล้ว สิ่งที่ได้ออกมาคือ กลุ่มหลักทรัพย์ที่เราสร้างขึ้นมา หรือที่เรียก ๆ กัน พอร์ตการลงทุน
ตามคำแนะนำที่ได้รับมาก็คือ ใน 1 พอร์ตการลงทุน ควรมีไว้สำหรับตอบโจทย์ 1 วัตถุประสงค์หรือ 1 เป้าหมาย ไม่ควรสร้างพอร์ตมาเพื่อหลายวัตถุประสงค์ เพราะแต่ละวัตถุประสงค์มีเงื่อนไขแตกต่างกัน เช่น เรื่องระยะเวลาหรือสภาพคล่อง เป็นต้น
5.ติดตามและวัดผลการดำเนินงาน
เมื่อเราคัดเลือกหลักทรัพย์และเริ่มต้นการลงทุนแล้ว เราควรที่จะทำการติดตามผลงาน ความเคลื่อนไหวของพอร์ตการลงทุนของเราว่ามีทิศทางอย่างไร ยังอยู่ในความเสี่ยงที่เรารับได้ไหม จำเป็นที่จะต้องปรับหรือไม่ (Re-balance พอร์ต)
รวมถึงการประเมินความสามารถของพอร์ตการลงทุนของเรา ว่าทำผลงานได้ดีขนาดไหน เมื่อเทียบกับผลดำเนินงานมาตราฐาน หรือ Benchmark เช่น พอร์ตของเราทำงานได้ดีตรงตามเป้าที่วางไว้ ผลตอบแทน 10% ในปีนี้ แต่หากตัวค่ามาตราฐานสามารถทำได้ถึง 30% แสดงว่าพอร์ตของเราอาจจะมีส่วนไหนที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก เป็นต้น