ผมเชื่อว่า หลาย ๆ คนที่เข้ามาอ่านในนี้ คงเคยจดบันทึกรายรับ รายจ่ายกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจดลงสมุดโน้ตเล็ก ๆ ทำใส่ลง Excel หรือรุ่นใหม่หน่อยก็ใช้ App บันทึกรายรับ รายจ่ายบนมือถือ
ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่เคยจดบันทึกรายรับ รายจ่าย
แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด…
คือทำได้ไม่นาน นั่นเอง
บันทึกรายรับ รายจ่าย ทำไปเพื่ออะไร ?
พอมานั่งถามตัวเองว่า เราบันทึกรายรับ รายจ่ายไปเพื่ออะไร คำตอบที่ได้ก็แค่ว่า ให้รู้ว่า เดือน ๆ นึงใช้เวลาไปเท่าไหร่ กับอะไรบ้าง แต่พวกค่าใช้จ่ายปลีกย่อยที่ไม่ได้มียอดต่อรายการสูงมากเช่น กินข้าว 45 บาท ซื้อขนม 15 บาท ค่าจอดรถ 10 บาท ขึ้นทางด่วน 90 บาท แบบนี้ ผมเองไม่ความจำเป็นต้องละเอียดขนาดนั้น และขี้เกียจจดมาก คือมันเล็ก ๆ น้อย ๆ เกินไปที่ต้องจดว่าแต่ละรายการ เราจ่ายไปเท่าไหร่
แต่รายการที่ผมอยากรู้คือ ยอดใหญ่ๆ เช่น ซื้อของใช้ในบ้าน ค่าน้ำมัน ช้อปปิ้ง กินมื้อหรู ฯลฯ ซึ่งรายการพวกนี้เป็นรายการที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากสำหรับผม
เมื่อเป็นแบบนี้แล้วจึงหาวิธีใหม่ ที่ไม่ต้องทำบันทึกรายรับ รายจ่าย ก็สามารถรู้ได้ว่าเดือนนี้เราใช้เงินไปเท่าไหร่
และรู้ว่ายอดใหญ่ ๆ เราใช้ไปกับอะไรบ้างตามความต้องการ
วิธีนี้ผมเรียกมันว่า การทำ Budgeting
Budgeting อะไร ยังไง ?
วิธีการทำ Budgeting คือ การจัดสรรเงินโดยทันทีเมื่อมีรายรับเข้ามา โดยส่วนตัวผมเองจะแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ (ใครจะแบ่งมากกว่านี้ก็ได้นะครับ) คือ เงินออม, บัญชีใช้จ่ายเงินสด, บัญชีใช้จ่ายสำหรับบัตรเครดิต (ซึ่งจะจ่ายค่าบัตรเครดิตจากเงินในบัญชีนี้) แล้วนำรายรับที่ได้โอนไปยังเงิน 3 บัญชีที่ได้แบ่งไว้
สมมุติว่าผมได้เงินเดือนมา 30,000 บาท ผมก็จะโอนเข้าบัญชีเงินออมก่อน 5,000 บาท โอนเข้าบัญชีใช้จ่ายเงินสด ที่ผูกกับบัตร ATM ไว้ 10,000 บาท และที่เหลือโอนเข้าบัญชีใช้จ่ายบัตรเครดิต
นั่นหมายความว่า ผมจัดสรรเงินไว้ก่อนเลยในแต่ละก้อน แล้วก็ใช้เงินตาม budget ที่ตั้งไว้ ทีนี้สิ้นเดือนทีก็จะเห็นแล้วว่า เดือนนี้เหลือเงินเท่าไหร่ในบัญชี ATM (ซึ่งหมายถึงว่า เดือนนี้เราใช้จ่ายเงินสดไปเท่าไหร่) ส่วนยอดใหญ่ ๆ ผมก็ใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่าย ซึ่ง Slip สิ้นเดือนมา ก็รับรู้ว่าใช้จ่ายไปกับอะไร ตอบโจทย์ในเรื่องของการบันทึกรายจ่ายได้โดยปริยาย
ง่ายนิดเดียวแค่แบ่งเงิน ไม่ต้องจดให้ยุ่งยาก
จะแบ่ง Budgeting แต่ละก้อน เท่าไหร่ดี ?
เดือนแรก ๆ เราอาจจะแบ่งโดยประมาณก่อนก็ได้ เช่น ออม 20% เงินสด 50% บัตรเครดิต 30% สิ้นเดือนมาดูเงินในบัตร ATM ดูว่าเหลือเท่าไหร่ บัตรเครดิตตึงมือไปไหม ทำไปซัก 2-3 เดือน จะพอเห็นคร่าว ๆ แล้วว่าเราใช้ประมาณนี้ แล้วค่อยปรับกัน บางคนอาจจะปรับได้เป็น ออม 30% เงินสด 30% บัตรเครดิต 40% ก็ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ Life Style ของแต่ละคน
แต่อย่างน้อยควรกันเงินออมไว้ที่ 10% นะครับ
Budgeting มีดีอะไร
การทำ Budgeting นั้นจะช่วยเราเพิ่มวินัยในการใช้เงินได้ค่อนข้างดี เพราะ
1. มีเงินออมเหลือเก็บ – เพราะตัดเงินออมไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่รับเงินมา
2. บังคับค่าใช้จ่ายเราไปโดยอัตโนมัติ – พอกลางเดือนเรากด ATM เห็นว่าเหลือเงิน 3,000 แล้วก็ทำให้เห็นว่า เฮ้ย เหลืออีก 3,000 แล้วนะ สมองจะบริหารทันทีว่าจะอยู่รอดอย่างไรกับเงิน 3,000 นี้ให้ถึงสิ้นเดือน
3. ลดความฟุ่มเฟือยลงได้ – จะรูดบัตรเครดิต เราก็สามารถเช็คยอดเงินในบัญชีใช้จ่ายสำหรับบัตรเครดิตว่ามีงบอยู่เท่าไหร่ (ผ่าน App มือถือ) จะพอจ่ายค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ไหม ถ้าไม่พอก็ไม่ควรซื้อ ยั้งมือไว้หน่อย 🙅♂️
4. นำเงินที่เหลือไปเก็บเพิ่มได้ – สิ้นเดือนมา ยังมีเงินเหลือในบัญชีเงินสดอยู่ เราก็สามารถโอนเพิ่มไปเป็นเงินออมหรือนำไปลงทุนเพิ่มต่อก็ได้
เห็นข้อดีของ Budgeting กันแล้ว ใครสนใจก็ลองนำไปปรับใช้กันดู
แล้วคุณจะติดใจกับความง่ายกับการจัดการเงิน 🙂