สำหรับน้อง ๆ ที่เริ่มต้นทำงานมีรายได้ สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ หลาย ๆ คนเริ่มมีความคิดที่อยากจะมีบ้านหรือรถ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต หรือต้องการที่จะมีสินทรัพย์เป็นของส่วนตัวเอง เป็นต้น และบางคนอาจจะมีคำถามว่าเราควรจะซื้ออะไรก่อนดี
ก่อนที่จะทำการตัดสินใจซื้อบ้านหรือรถนั้น อยากจะให้น้อง ๆ ทำการสำรวจความพร้อมของตนเองก่อน และทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้เป็นเจ้าของบ้านหรือรถแล้ว เพื่อที่จะไม่ให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาทางการเงินในภายหลังได้
การสำรวจความพร้อมก่อนซื้อบ้าน ซื้อรถ อยากให้พิจารณา อยู่ 3 เรื่อง ได้แก่
1.เรามีเงินสำรองฉุกเฉินแล้วรึยัง ?
หากเราจะทำการขอสินเชื่อ (ขอกู้) เพื่อซื้อบ้านหรือรถ อยากให้น้อง ๆ มีเงินสำรองฉุกเฉินเตรียมไว้ก่อน โดยเงินสำรองฉุกเฉินนั้นก็คือ เงินเก็บก้อนนึงที่มีสำรองเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 3 – 6 เดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินนี้เก็บไว้ที่ประมาณ 90,000 บาท ในกรณีที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระ หากเกิดเหตุตกงานขึ้นมา อย่างน้อยก็ยังสามารถนำเงินก้อนนี้มาผ่อนชำระและใช้เป็นค่าใช้จ่ายระหว่างหางานใหม่ได้
2. ความพร้อมในการจ่ายเงินดาวน์
โดยปกติทั่วไปการขอกู้ซื้อบ้าน หรือกู้ซื้อรถนั้น ผู้กู้สามารถกู้ได้ไม่เต็มจำนวน 100% จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินก้อนนึงที่เรียกว่า เงินดาวน์ มาจ่ายก่อน จากนั้นส่วนที่เหลือจึงทำเรื่องกู้ได้ เช่น บ้านราคา 2,000,000 บาท อาจจะต้องมีเงินดาวน์ 200,000 บาท หรือ รถยนต์ราคา 1,000,000 บาท ต้องมีเงินดาวน์ 250,000 บาท เป็นต้น ซึ่งเงินก้อนนี้ควรเป็นเงินเก็บแยกต่างหากจากเงินสำรองฉุกเฉินในข้อที่ 1
3. ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน
ภาระหนี้สินที่ทำการผ่อนชำระต่อเดือนนั้น ควรมีค่าไม่เกิน 35% ของรายได้ต่อเดือน เช่น มีรายได้ 30,000 บาท ภาระผ่อนต่อเดือนไม่ควรเกิน 10,500 บาท ดังนั้น หากมีการผ่อนชำระหนี้สินอื่น (เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ) เดือนละ 2,500 บาท เงินในการผ่อนชำระบ้านหรือรถ ต่อเดือนนั้น ไม่เกินควร 8,000 บาท ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวเลขที่ทำให้เราสามารถนำไปคำนวณงบประมาณในการซื้อบ้านหรือรถได้
อีกส่วนนึงที่อยากจะให้พิจารณากันคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อมีบ้าน มีรถ
ในกรณีของการมีบ้านนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมักจะมีลักษณะเป็นเงินก้อนในช่วงแรก เช่น ค่าเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องครัว ค่าตกแต่ง เป็นต้น และมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำ ค่าไฟ
สำหรับรถยนต์นั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมักจะมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ที่จ่ายในทุก ๆ เดือน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปี เช่น ค่าต่อทะเบียนรถ ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าบำรุงรักษารถยนต์ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งสุดท้ายที่อยากให้พิจารณาคือ ความจำเป็นในการซื้อ ระหว่างบ้านกับรถ น้อง ๆ มีความจำเป็นกับสิ่งไหนมากกว่ากัน เพราะแต่ละคนคงมีเหตุผลต่างกัน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีบ้านตอนนี้ เราสามารถพักอาศัยกับญาติหรือเช่าที่พักไปก่อนได้หรือไม่ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีรถส่วนตัวตอนนี้ เราสามารถใช้ขนส่งสาธารณะอยู่ก่อนได้ไหม
หากทบทวนดูแล้ว พบว่ายังไม่มีความจำเป็น น้อง ๆ สามารถนำเงินส่วนนี้ ไปเก็บออม พร้อมทั้งศึกษาวิธีการลงทุน เพื่อให้เงินออมนี้เติบโตขึ้น เมื่อถึงเวลามีความจำเป็นจริง ๆ เงินก้อนนี้น่าจะพร้อมกว่า ไม่ว่าจะสำหรับการซื้อบ้าน หรือซื้อรถครับ 🙂